text: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยคำร้อง กรณี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 32 คน เมื่อเวลา 15.00 น. โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิจารณาในช่วงแรกว่าได้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. 29 คน จำหน่ายคดีออกไป 3 คน เนื่องจากมีการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคำร้อง ส.ส. 3 คน ฝ่ายรัฐบาล ที่จำหน่ายคดีออกไปแล้ว ได้แก่ พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สิ้นสุดการเป็น ส.ส.เนื่องจากต้องคำพิพากษาให้จำคุก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และอดีต รมว.แรงงาน ลาออก และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ ลาออก ส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 32 คน ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำวินิจฉัยทั้งหมด 29 คน เนื่องจากมีอดีตกรรมการบริหารพรรค อนาคตใหม่ (อนค.) ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ไปก่อนหน้านี้จากกรณีถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรค เมื่อเดือน ก.พ. จึงถือว่าสิ้นสภาพ ส.ส.ไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กก. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น และบริษํท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ อนค. ยื่นบัญชีรายชื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2562 ในวันยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ถูกร้องอีก 28 คน ซึ่งเป็น ส.ส. กก.หรืออดีต อนค. 16 คน เพื่อไทย 4 คน เพื่อชาติ 4 คน และพรรคเสรีรวมไทย 3 คน ศาลวินิจฉัยไม่สิ้นสุดสมาชิกสภาพ ส.ส. เนื่องจากกิจการที่ถูกร้องไม่ใช่กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงการเลื่อนลำดับ ส.ส.แบบบัญชีรายช่ือ ขึ้นมาแทนในส่วนที่พ้นสภาพไปนั้น ดังที่ อนค.ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปแล้ว ทำให้ อนค.ไม่มีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จึงให้มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเอกสารทางการเงินหลายฉบับของบริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ฟังได้ว่าทั้งสองบริษัทจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ และรับจ้างโฆษณาถ่ายภาพและสื่อโฆษณาทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจการเกี่ยวกับกิจการสารคดีโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ "ซึ่งเป็นสื่อตัวกลางในการส่งข่าวสารและเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป" "แม้จะไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่า บริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น จำกัด เคยยื่นคำร้องหรือขอใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระสายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคม พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมจะสามารถดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังวัตถุประสงค์ที่มีการระบุเพิ่มเติม และตามแบบ สช.1 ของบริษัท ที่แสดงเจตนาให้เห็นวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน อันเป็นกิจการตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท เฮดอัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชน" ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า จากเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเอกสารโอนหุ้นของนายธัญญ์วาริน ไปยังบุคคลอื่น เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 "มีข้อพิรุธไม่เป็นไปตามปกติวิสัย" โดยชี้ว่าในเอกสาร บจ.5 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผุ้ถือหุ้น เมื่อ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้น "เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2562 โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่ได้มีการโอนหุ้นกันจริง" "หากผู้ถูกร้องที่สองมีการโอนหุ้นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2562 จริง ผู้ถูกร้องที่สองในฐานะกรรมการของบริษัทย่อมดำเนินการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผ้ถือหุ้นแบบ บจ.5 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนโดยเร็วก่อนวันที่ผู้ถูกร้องที่สองจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นก่อน และผู้ถูกร้องที่สองย่อมต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่าผู้ถูกร้องที่สองได้มีการโอนหุ้นไปแล้ว ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหาในคดีมาเสียตั้งแต่ต้น แต่ผู้ถูกร้องที่สอง กลับไม่ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี" ภายหลังรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส.ส. ธัญญ์วารินได้โพสต์ข้อความและภาพในทวิตเตอร์ระบุว่าอำลาป้ายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณีของ ส.ส.พรรครัฐบาลเสร็จสิ้น นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี ทีมกฎหมายของ พปชร. กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยคำร้องโดยพิจารณาจากเอกสารราชการเป็นหลักว่าไม่มีการดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แม้กระทั่งกรณีของ น.ส.ภาดา วรกานนท์ ส.ส.กทม. ที่มีความวิตกกังวล ศาลก็ยืนยันว่าไม่มีการทำกิจการดังกล่าว โดย ส.ส.ของพรรค พปชร. 20 คน ศาลยกคำร้องทั้งหมด "การทำสื่อมวลชนกับหนังสือพิมพ์จะต้องทำจริง ๆ ไม่ใช่จดทะเบียนอย่างที่ร้องมา ศาลหยิบยกประเด็นข้อเท็จจริงมาว่าต้องไม่มีการทำ" รายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อ - พลังประชารัฐ 20 คน เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและ รมว.ศึกษาธิการ ถือครองหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ และวิสดอม เอ็นเตอร์ไพรส์ กิจการศูนย์ฝึกกีฬา สปอร์ตคลับนายสิระ เจนจาคะ ถือครองหุ้นบริษัทบ้านทรงไทยแจ้งวัฒนะ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และ รมว.แรงงาน ถือครองหุ้นในบริษํท อรินสิริ แลนด์ จำกัด มหาชน น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. ถือครองหุ้นบริษัท ทาโร่ทาเลนท์ ประกอบกิจการการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รับทำสื่อ - ประชาธิปัตย์ 7 คน เช่น น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ถือครองหุ้นบริษํท ซี บี โฮลดิ้ง ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์และการขนส่ง - ภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ - ชาติพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คำวินิจฉัย "ภาดาท์" ส.ส. พปชร. ถือหุ้นในบริษัทรับทำโฆษณา กรณีของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ แม้ถูกร้องว่าถือหุ้นในบริษัททาโร่ ทาเลนท์ จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นบริษัทตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประกอบกิจการรับทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตามสื่อต่าง ๆ จัดฝึกอบรม และแบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สบช.3) รอบปีบัญชีสิ้นสุดปี 2562 ระบุว่า ผลิตให้บริการข้อมูลข่าวสาร ด้านการบันทึก อัตราร้อยละของรายได้ รวมร้อยละร้อย รอบปีบัญชีสิ้นสุด 2561 ระบุว่าทำการบริหารจัดการและประมวลผลข้อมูล และหมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับงวดบัญชีตั้งแต่ 6 ต.ค. 2560 วันที่จดทะเบียนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560 ระบุว่าบริษัทประกอบกิจการในการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โฆษณาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หมายเหตุงบการเงินสำหรับงวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 ถึง 18 มิ.ย.2562 ใบจดทะเบียนเลิกบริษัทระบุว่า บริษัทประกอบกิจการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า จากการไต่สวนระบุว่า บริษัท ทาโร่ ทาเลนท์ จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการให้บริการ การรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามสื่อต่างๆ และประกอบกิจการฝึกอบรม แต่จากแบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สบช.3) รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ต.ค.2561 ระบุสินค้า บริการ ที่ประกอบการว่าทำการบริการในการบริหารจัดการ และประมวลผลข้อมูล ประกอบกับแบบแสดงภาษีเงินได้ ( ภงด.50) ปรากฏว่างบกำไรขาดทุนงวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 -18 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนเลิกบริษัท ปรากฏว่าบริษัทไม่มีรายได้ใด ๆ จากการให้บริการและผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เป็นเงินจำนวน 97,415.57 บาท อีกทั้งเมื่อพิจารณารายได้บริษัทในปี 2560 เป็นรายได้ที่ได้มาจากการประกอบกิจการฝึกอบรม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัท ทาโร่ ทาเลนท์ ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ย้อนที่มา คดีหุ้นสื่อ 64 ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. 64 คนที่เป็น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลฝ่ายละ 32 คน ว่าสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (3) หรือไม่ กรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ คดีถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 64 คน แบ่งเป็นฝ่ายละ 32 คน มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การเปิดสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ภายหลังนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เมื่อรับคำร้องคดี "โยกหุ้น" สื่อ ไว้พิจารณาในวันที่ 23 พ.ค. เป็นเวลาเพียงสองวันก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ครั้งที่ 1 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 จะเริ่มขึ้น ธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส. ในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายธนาธร หยุดปฏฺิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวในเดือน พ.ค. 2562 ส.ส.ของอดีตพรรค อนค. นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานแทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยกรณี 41 ส.ส. พรรครัฐบาล ถือครองหุ้นสื่อ ทำให้มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็น ส.ส. หรือไม่ เดือน มิ.ย. นายชวน หลีกภัย ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นในวันที่ 26 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 32 คน ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้พิจารณา โดยมี ส.ส. 9 คน ที่ศาลมีคำสั่ง "ไม่ได้รับคำร้อง" ไว้พิจารณาวินิจฉัย หนึ่งในนั้น คือ น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในห้วงเวลาเดียวกัน ส.ส. พลังประชารัฐ นำโดยนายชัยวุฒิ ธณาคมานุสรณ์ ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ก็ยื่นตรวจเรื่องต่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 33 คน กรณีการถือครองหุ้นกิจการสื่อมวลชน โดยมีสัดส่วนของ ส.ส. อนค.มากที่สุด 21 คน หลังจากนั้นในเดือน ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องวินิจฉัยไว้ทั้งหมด 32 คน ยกคำร้องในส่วนของนายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ส่วนการนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ (28 ต.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งต่อ ส.ส.ผู้ถูกร้องให้ฟังคำวินิจฉัยเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา "ปิยบุตร" เตือน กกต. อย่าอ้างคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินคดีอาญา อดีต กก.บห.อนาคตใหม่ วันนี้ (28 ต.ค.) ยังมีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ คือ อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แถลงข่าวกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้า อนค. และอดีตกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) รวม 16 คน กรณีนายธนาธรปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการ อนค. นำทีมแถลงข่าวหลังจากที่เขาทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า กกต. มีมติเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ให้สำนักงาน กกต.แจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายธนาธรและอดีต กก.บห. อนาคตใหม่รวมทั้งหมด 16 คน จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบ อนค. เนื่องจากกระทำผิดมาตรา 66 ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาทจากนายธนาธร รายงานข่าวระบุด้วยว่า นายธนาธรจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนอดีต กก.บห.พรรคจะถูกดำเนินคดีฐานกระทำผิดมาตรา 66 และมาตรา 72 ประกอบมาตรา 137 รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลโดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี และรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แหล่งข่าวระดับสูงจาก กกต. ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า กกต.มีมติดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ นายปิยบุตรกล่าวว่าคดีอาญานี้มีที่มาจากการที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลได้วินิจฉัยยุบ อนค. เมื่อวันที่ 21 ต.ค. และตัดสินทางการเมือง กก.บห.เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งนายปิยบุตรมองว่าเป็นคดีที่ "มีปัญหาทั้งกระบวนการ" และถูกตั้งคำถามและวิพากษ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจำนวนมาก นายปิยบุตรนำการแถลงข่าวที่คณะก้าวหน้า "คดีนี้ต้องต่อสู้กันใหม่ มิใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็เอามาดำเนินคดีอาญาต่อโดยไม่ต้องไต่สวน ให้เอาเข้าคุกอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากตีความกันอย่างนี้ หากใช้กฎหมายกันอย่างนี้ จะเกิดผลประหลาดขึ้น นั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลอาญาโดยปริยาย เพียงแต่ไม่ได้ตัดสินจำคุกเอง แต่วางแนวไว้ให้ ถ้าเป็นแบบนี้ ใครถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ก็จะต้องลุ้นตลอดเวลาว่าจะถูกดำเนินคดีอาญาหรือคดีอื่น ๆ อีกหรือไม่" นายปิยบุตรกล่าว "หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าการยุบพรรค (อนาคตใหม่) เป็นหนึ่งในชนวนเหตุความไม่พอใจของประชาชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมอยู่ในเวลานี้" นายปิยบุตรกล่าวและฝากบอกไปถึง "ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องการยุบพรรค" ว่าตอนจบจะไม่เหมือนเดิม "ถ้าคิดว่าการดำเนินคดีอาญาจะหยุดเรา คิดผิด และถ้าทำ ไฟก็จะลามทุ่งเข้าไปอีก" อดีตนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขธิการคณะก้าวหน้ากล่าวพร้อมกับยืนยันว่าพร้อมสู้คดีนี้อย่างเต็มที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมรัฐบาล 29 คน ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าได้มีการถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ ส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (กก.) หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่าถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชนในวันสมัครรับเลือกตั้ง